วันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติ 2556 ประวัติความเป็นมาความสำคัญของวันพ่อ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 587) พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายคำว่า “พ่อ” ไว้ดังนี้
พ่อ หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูก, คำที่ลูกเรียกชายผู้ให้กำเนิดตน
ในทางพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า “พ่อ” หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูกมีใช้หลายคำ เช่น
- บิดา (พ่อ)
- ชนก (ผู้ให้กำเนิด)
- สามี (ผัวของแม่) เป็นต้น
วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและถือเป็นวันพ่อแห่งชาติ อีกวันหนึ่งด้วย
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือวันพ่อแห่งชาติ มีความเป็นมาของวันสำคัญ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วิทท์มอร์เป็นผู้ถวายการประสูติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการจำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่ พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” อันคำว่าโดย “ธรรม” นั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ราชธรรม 10 ประการ”
ราชธรรม 10 ประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นทรงปฎิบัติโดยเคร่งครัด และส่งผลถึงพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ ห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้
“...บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นร่มเย็นปกติสุขมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติและต่างร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่โดยนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด ท่านทั้งหลายในสมาคมนี้ ตลอดจนคนไทยทุกหมู่เหล่า จึงควรทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนไว้ให้กระจ่างและนำไปปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท และด้วยความมีสติ…”
กลอนวันพ่อ
เป็นสองมือ อุ้มชู เลี้ยงดูลูก....เป็นสายใย พันผูก คอยห่วงหา
เป็นอ้อมกอด อบอุ่น ค้ำจุนมา....เป็นสายตา ห่วงใย ใคร่อาทร
ยามเจ็บไข้ เฝ้าดูแล ด้วยชีวิต ....ยามพลั้งผิด ท่านอบรม คอยบ่มสอน
ยามเหนื่อยหน่ายกำลังใจไม่สั่นคลอน....ยามใดใด ยังอาทร ไม่เปลี่ยนแปร
ด้วยความรัก ของพ่อ ที่ยิ่งใหญ่ .....ด้วยหัวใจ สะอาดใส เป็นแน่แท้
ด้วยชีวิต เพื่อลูก .. เฝ้าดูแล ....ด้วยสองมือ ไม่ผันแปร เป็นอื่นใด
เป็นอ้อมกอด อบอุ่น ค้ำจุนมา....เป็นสายตา ห่วงใย ใคร่อาทร
ยามเจ็บไข้ เฝ้าดูแล ด้วยชีวิต ....ยามพลั้งผิด ท่านอบรม คอยบ่มสอน
ยามเหนื่อยหน่ายกำลังใจไม่สั่นคลอน....ยามใดใด ยังอาทร ไม่เปลี่ยนแปร
ด้วยความรัก ของพ่อ ที่ยิ่งใหญ่ .....ด้วยหัวใจ สะอาดใส เป็นแน่แท้
ด้วยชีวิต เพื่อลูก .. เฝ้าดูแล ....ด้วยสองมือ ไม่ผันแปร เป็นอื่นใด
ชายคนหนึ่ง ทำทุกอย่าง ไม่เคยบ่น ทั้งตากแดด ตากฝน ยอมทนหนาว
เพื่อความหวัง ที่สดใส สุขสกาว ให้ลูกชาย ลูกสาว ได้เล่าเรียน
แม้ต้องแลก กับหยาดเหงื่อ สักกี่หยด แม้ต้องควัก สตางค์หมด จนเป็นหนี้
ไม่เคยท้อ หวังแค่ลูก ได้จบตรี แต่ลูกสิ กับชั่ว จนลืมตน
ได้แต่ขอ เงินท่าน ไม่เคยขาด เอาไปใช้ เรื่องอุบาท จนหมดสิ้น
ไม่เคยคิด ไม่เคยนึก ได้แต่ชิน ชินกับการ ฟุ่มเฟือย จนเลื่อยมา
แล้วสุดท้าย ความเจ็บปวด มันหวนกลับ คนที่รับ นั้นคือพ่อ ใข่ไหมหนา
ต้องมานั่ง ร้องไห้ เสียน้ำตา พ่อเร่งหา ลูกล้างผลาญ หมั่นทำลาย
จนวันหนึ่ง คิดได้ ในที่สุด แต่เวลา กับหยุด ฝันสลาย
ท่านไม่ได้ อยู่กับเรา ไปจนตาย กว่าคิดได้ มันคงสาย ไม่หวนคืน
ประวัติวันพ่อแห่งชาติ จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดย คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันพ่อแห่งชาติขึ้น ด้วยความจงรักภักดี และมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของประชาชนชาวไทย ในฐานะ "พ่อแห่งชาติ" และ "พ่อของแผ่นดิน" ในประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ
ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงทะนุบำรุงพระราชโอรสธิดาด้วยความรัก และทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว พระองค์ยังทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น “พ่อแห่งชาติ” ที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนักในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้ วัฒนาถาวรสืบไป
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ ที่คณะผู้ริเริ่มกำหนดคือ
- เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
- เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
- เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
ในการนี้คณะกรรมการได้จัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณ พ่อตัวอย่าง หรือพ่อดีเด่น ในทุกๆปี โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของพ่อดีเด่นดังนี้
คุณสมบัติของพ่อตัวอย่าง หรือพ่อดีเด่น
- มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- ส่งเสริมการศึกษาของบุตรธิดา
- นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด
- งดเว้นอบายมุขทุกชนิด
- อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนและส่วนรวม
- มีภรรยาเพียงคนเดียว
นอกจากนั้นทางคณะกรรมการ ยังได้แนะนำ กิจกรรมสำหรับลูกในวันพ่อ คือ
- ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
- จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือบำเพ็ญกุศลเพื่อส่วนรวม
- ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงพระคุณของพ่อ ซึ่งยังดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในวัน ที่ 5 ธันวาคมมหาราช นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น “วันชาติของไทย” อีกด้วย
โดยทั่วไป “วันชาติ” มักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้นๆได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง “วันชาติ” ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศโมร็อกโก ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม สหรัฐอเมริกา ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม ฝรั่งเศสตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม อินโดนีเซียตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม บราซิลตรงกับวันที่ 7 กันยายน และเคนย่าตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม เป็นต้น
“วันชาติ” ของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีเพียงวันเดียว แต่ก็มีบางประเทศเช่นกันที่มี “วันชาติ” มากกว่าหนึ่งวัน ทั้งนี้เพราะประเทศนั้นๆ อาจจะนับวันที่ได้รับเอกราชหรือวันที่ปลดแอกจากการเป็นอาณานิคม และวันที่มีการสถาปนาการปกครองขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะมิใช่วันเดียวกัน แต่เป็นวันสำคัญเสมือนวันชาติเท่าๆกัน เช่น ประเทศปากีสถาน จะมีวันชาติตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ที่เขาเรียกว่า “Republic Day” และวันที่ 14 สิงหาคม เป็น “Independence Day” ส่วนฮังการี ก็มีถึง 3 วันคือ วันที่ 15 มีนาคม 20 สิงหาคม และ 23 ตุลาคม สำหรับจีน นอกจากจะมีวันชาติตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม แล้ว ที่ฮ่องกง อันเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ที่มีขึ้นหลังจากอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้จีนก็มีการเฉลิมฉลองวันที่ตรงกับวัน สถาปนาการปกครองพิเศษนี้ขึ้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม อีกด้วย
สำหรับ ประเทศไทย เราเคยได้มีการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ”ของไทย ด้วยถือว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “วันชาติ” ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 โดย พ.อ.พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2482 ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ” ของไทยอยู่นานถึง 21 ปี ครั้น วันที่ 21 พฤษภาคม 2503 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยให้เหตุผลว่า
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้ง หลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติ ต่างๆกัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ โดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมา แล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง
คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย
ดังนั้น นับแต่ปี พ.ศ. 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันชาติ” ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตามปกติ การจัดงาน “วันชาติ” ของประเทศต่างๆก็จะมีกิจกรรมและรูปแบบแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็มักจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ การจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง การจุดพลุดอกไม้ไฟอย่างเอิกเกริก รวมไปถึงการแสดงมหรสพต่างๆ เป็นต้น แต่ในประเทศไทย เนื่องจากวันชาติ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองอยู่แล้ว กอปรกับประเทศไทยยังไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็คุ้นชินกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เห็น กันอยู่ปัจจุบัน
ดังนั้น “วันชาติ” ของเราจึงดูเหมือนไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก เพราะชาวไทยทุกหมู่เหล่าล้วนตัองการจัดกิจกรรมเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อหลวงของแผ่นดิน” มากกว่าประเด็นอื่น อย่างไรก็ดี หากเราจะระลึกว่าวันนี้ ก็เป็น “วันชาติ”ของไทยด้วย แล้วจัดกิจกรรมต่างๆที่จะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อ “ประเทศชาติ” ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และความเสียสละมาอย่างยาวนานเช่นไร ก็อาจจะทำให้ วันนี้ มีความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น